Loading...

Menu

Menu

ที่ท่องเที่ยว

รถยนต์ไฟฟ้า 2020 ที่มีขายในไทย- เช่ารถเชียงใหม่

รถยนต์ไฟฟ้า 2020 ที่มีขายในไทย

1. รถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV

เริ่มต้นด้วยเจ้าแรกที่เปิดราคามาแบบ WOW กันเลยกับค่าตัว 1,190,000 บาท ทำให้ปลุกกระแสรถไฟฟ้า ได้เป็นอย่างดี  MG ZS EV โดดเด่นด้วยดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ของ SUV ตามแบบฉบับของเอ็มจี สีตัวถังแบบพิเศษ “สีฟ้า Copenhagen Blue”

ภายในห้องโดยสารตกแต่งโทนสีดำ กับหน้าจอสีระบบสัมผัสขนาด 8 นิ้วได้เพียงปลายนิ้ว และระบบปรับอากาศแบบดิจิตอลที่มาพร้อมระบบกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5

อีกทั้งยังโดดเด่นด้วยหลังคาซันรูฟแบบพาโนรามา (Panoramic Sunroof) NEW MG ZS EV เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ที่ให้ทั้งสมรรถนะ อัตราเร่งที่รวดเร็ว มอเตอร์ไฟฟ้า แบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ที่ได้รับการพัฒนาให้ส่งกำลังได้ดีเยี่ยม และช่วยระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น พร้อมแบตเตอรี่ แบบลิเธี่ยม ไอออน (Lithium-ion) ความจุ 44.5 kWh

โดยมีพละกำลังสูงสุด 110 กิโลวัตต์ (150 แรงม้า) แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร สามารถเร่งจาก 0-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ด้วยระยะเวลาแค่ 3.1 วินาที และให้ระยะทางขับเคลื่อนสูงสุด 337 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง (ตามมาตรฐาน NEDC หรือมาตรฐานการทดสอบความประหยัดน้ำมันและมลพิษของยุโรป)

2. รถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf

อีกค่ายกับกับรถญี่ปุ่น นิสสัน ลีฟ ถือเป็นค่ายแรกที่นำเข้ามาจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการสำหรับ รถยนต์ไฟฟ้า ลีฟ ได้รับความนิยมของคนทั่วโลก ที่สามารถทำยอดขายได้รวมกว่า 40,000 คันไปแล้ว

นิสสัน ลีฟ เป็นรถนำเข้าทั้งคัน โดยทางบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จํากัดโดยตรง เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเจนเนอเรชั่นที่ 2 ที่ได้รับการพัฒนาให้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า AC SYNCHRONOUS ขนาด 150 แรงม้า แรงบิด 320 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุขนาด 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง

สามารถขับเคลื่อนไปได้ไกลสูงสุด 311 กิโลเมตร/การชาร์จ 1 ครั้ง ตั้งราคาจำหน่ายเอาไว้ที่ 1.99 ล้านบาท (นำเข้า CBU)  แต่ด้วยราคารถที่นำเข้าทั้งคันอาจทำให้สูงกว่าคู่แข่ง จึงทำให้ผู้บริโภคอาจจะต้องคิดหนักในการตัดสินใจ


3. รถยนต์ไฟฟ้า FOMM ONE  

FOMM ONE  เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็ก กระทัดรัด แต่สามารถรองรับที่นั่งได้ถึง 4 ที่นั่ง  ถือเป็นรถขนาดเล็กกระทัดรัด  ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยอัตราสิ้นเปลืองเพียง 30 สตางค์ต่อกิโลเมตร ด้วยการชาร์จในระบบไฟฟ้าภายในบ้านเพียง 6 – 8 ชั่วโมง และสามารถวิ่งได้ไกลถึง 160 กิโลเมตร

ขนาดความยาว 2,585 มม. กว้าง 1,295 มม. และสูง 1,560 มม. รูปร่างหน้าตาจึงมีความน่ารักผสมผสานกับความทันสมัย ระบบขับเคลื่อนติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าในดุมล้อหน้าทั้ง 2 ข้าง ให้กำลังสูงสุด 13 แรงม้า ส่วนแรงบิดสูงถึง 560 นิวตันเมตร วิ่งได้เร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ราคา 664,000บาท จุดเด่นสำหรับ fomm ลอยน้ำได้


4. รถยนต์ไฟฟ้า Audi e-tron

อาวดี้ ประเทศไทย สร้างเซอร์ไพรส์ ด้วยการนำเข้า Audi e-tron รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นล่าสุดที่เพิ่มเปิดตัวไปอย่างเป็นทางการมาเมื่อไม่นานนี้ เอาเข้ามาให้ชาวไทยสามารถสั่งซื้อกันได้ โดยรุ่นที่นำเข้ามาครั้งนี้ จะเป็น Audi e-tron 55 quattro ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าติดตั้ง 2 ตำแหน่งที่ด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งส่งกำลังไปยังล้อโดยตรง

โดยมอเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 2 ตัว ให้กำลังสูงสุด 360 แรงม้า แรงบิด 561 นิวตันเมตร และเพิ่มขึ้นเป็น 408 แรงม้า แรงบิด 664 นิวตันเมตร ทำให้มั่นใจในสมรรถนะที่จะตอบสนองการใช้งาน และเติมอารมณ์สปอร์ตได้อย่างเต็มที่ พร้อมความจุแบตเตอรี่ไฟฟ้าแรงสูงแบบ ลิเธียมไออน 95 kWh ด้วยอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ในเวลา 6.6 วินาที และ 5.7 วินาทีในบูสต์โหมด และทำความเร็วสูงสุดได้ 200 กม./ชม.

นอกจากเรื่องของสมรรถนะแล้ว จุดเด่นของ e-tron ก็คือ ความสามารถในการใช้งาน โดยการชาร์จไฟ 1 ครั้ง เดินทางได้ถึง 417 กม. มาพร้อมราคาจำหน่ายเพียง 5,099,000 บาทพร้อมรับการดูแลจาก Audi Protection การรับประกันรถใหม่ 5 ปี หรือระยะทาง 150,000 กิโลเมตร และบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน Roadside Assistance ทั่วประเทศ 24 ชั่วโมงนาน 5 ปี และสำหรับลูกค้า รับประกันแบตเตอรี่ 8 ปี หรือ 160,000 กม.


5. รถยนต์ไฟฟ้า Jaguar I-PACE

อีกค่ายที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าตัวแรงในรูปแบบ suv อย่าง Jaguar I-PACE ถูกนำเข้ามาโดยอินช์เคป (ประเทศไทย) ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของรถยนต์จากัวร์ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ (2 ตัวแยกด้านหน้ากับด้านหลัง)พร้อมขนาดแบตเตอรี่ Lithium-ion ชนิด Pouch cells ที่มีน้ำหนักเบาและใช้พื้นที่ในการจัดเก็บน้อย มีความจุ 90kWh

ให้กำลังรวม 400 แรงม้า แรงบิด 696 นิวตันเมตร วิ่งได้ไกลสูงสุด 470 กิโลเมตร/การชาร์จ 1 ครั้ง ทำความเร็วสูงสุด 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเร่งความเร็ว 0-100 ได้ใน 4.8 วินาที พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD

สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่จาก 0-80 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาเพียง 20-40 นาที ผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรง DC (Quick charge) หรือ ภายในเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง ด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสสลับ AC (Home wall box) นำเข้ามาประเทศไทยทั้งหมด 3 รุ่น คือ

  • JAGUAR I-PACE ELECTRIC AWD S ราคาจำหน่าย 5,499,000 บาท
  • JAGUAR I-PACE ELECTRIC AWD SE ราคาจำหน่าย 6,299,000 บาท
  • JAGUAR I-PACE ELECTRIC AWD HSE ราคาจำหน่าย 6,999,000 บาท

6. รถยนต์ไฟฟ้า BYD E6

รถยนต์ไฟฟ้าจากแดนมักกรกับ BYD E6 นำเข้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการโดยบริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด ที่เป็นการร่วมลงทุนกันระหว่าง บริษัท ชาริช โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทตัวแทนจำหน่ายจักรยานยนต์แบรนด์ดัง Ducati และ Royal Enfield บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อความบันเทิง AJ

ตัวรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงสุดที่ 121 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 140 กม./ชม. ตัวแบตเตอรี่เป็นแบบ Iron-Phosphate หรือ Fe Battery ที่สามารถเก็บไฟได้ 80 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้ BYD E6 สามารถวิ่งได้ไกลสูงสุดประมาณ 300 กิโลเมตร/การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง

ใช้ระยะเวลาในการชาร์จแบบ VTOG 40kW ที่ประมาณ 2 ชั่วโมง และแบบปกติที่ประมาณ 8-9 ชั่วโมง ปกติแล้วเราอาจจะเห็น BYD E6 ได้ในภาพลักษณ์ของการเป็น Taxi VIP ที่วิ่งตามสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ทางผู้นำเข้า ก็เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจอยากเป็นเจ้าของ สามารถสั่งซื้อได้ในราคา 1.89 ล้านบาท



7. รถยนต์ไฟฟ้า Hyundai Ioniq Electric

รถไฟฟ้าจากแดนกิมจิ Hyundai Ioniq Electric   ที่ถูกขายมานานแต่ไม่ค่อยจะเห็นบนถนนด้วย การทำตลาดที่ไม่ค่อยจริงจังจึงทำให้ผู้บริโภคไม่ค่อยได้รับรู้เท่าไหร่ Hyundai Ioniq Electric ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 120 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 295 นิวตัน-เมตร พร้อมแบตเตอรี่ Lithium-Ion Polymer (LiPo) ความจุ 28 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 9.9 วินาที (โหมด Sport) และ 10.2 วินาที (โหมดปกติ) ทำความเร็วสูงสุดได้ 165 กม./ชม. สามารถเคลื่อนที่ได้เป็นระยะทาง 280 กม. ต่อการชาร์จเต็มแต่ละครั้งตามมาตรฐาน NEDC

ระบบชาร์จไฟของ Ioniq Electric 2018 สามารถชาร์จได้ 3 แบบ ได้แก่

  1. แบบทริคเคิ้ล (เต้าเสียบบ้าน) กำลังไฟ 2.3 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จไฟจนเต็ม 12 ชั่วโมง
  2. แบบธรรมดา (Wall Box) กำลังไฟ 6.6 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จจนเต็ม 4 ชั่วโมง 25 นาที
  3. แบบชาร์จเร็ว (สถานีชาร์จเร็ว) กำลังไฟสูงสุด 100 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จจนถึงระดับ 80% ในเวลา 23 นาที

ราคารถยนต์ไฟฟ้า Hyundai Ioniq Electric

ราคาอย่างเป็นทางการ (นำเข้า CBU) 1,749,000 บาท



8. รถยนต์ไฟฟ้า Kia Soul EV 

รถไฟฟ้าอีกหนึ่งคันจากแดนกิมจิ Kia Soul EV เปิดตัวในไทยก่อนใคร แต่ด้วยราคาแรงจัดกว่าคู่แข่ง ซึ่่งเป็นรถสไตล์ครอสโอเวอร์ทรง กล่อง 5 ที่นั่ง อาจจะไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตาเท่าไรนัก เพราะ Kia Soul รุ่นปกติมีวิ่งกันน้อยมาก 

มอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet AC Synchronous กำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 395 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ Lithium-ion Polymer Battery (LIPO) ขนาด 64 kWh กำลังไฟฟ้า 7.2 kW แรงดันไฟฟ้า 356V เสียบปลั๊กชาร์จไฟ ระยะทางวิ่งสูงสุดที่ทำได้ 452 กิโลเมตร (มาตรฐาน WLTP) Top Speed ความเร็วสูงสุด 167 km/h อัตราเร่ง 0-100 km/h : 7.9 วินาที

ระยะเวลาในการชาร์จไฟของ Kia Soul EV

  • Quick Charge DC 100 kW จาก 0-80% ภายใน 54 นาที
  • Quick Charge DC 50 kW จาก 0-80% ภายใน 75 นาที
  • Normal Charge Wallbox AC 7.2 kW จาก 0-100% ภายใน 9 ชั่วโมง 35 นาที
  • Normal Charge Home Plug AC 2.6 kW จาก 0-100% ภายใน 31 ชั่วโมง

ราคา Kia Soul EV 

ราคาอย่างเป็นทางการ (นำเข้า CBU) Soul EV 2,387,000 บาท


9. รถยนต์ไฟฟ้า Porsche Taycan

ปิดท้ายกับค่ายรถ sport อย่าง Porsche ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน กับรถไฟฟ้าคันแรกจากค่าย ในรุ่นปอร์เช่ ไทคานน์ เทอร์โบ เอส (Porsche Taycan Turbo S) พกพาพละกำลังสูงสุดกว่า 761 แรงม้า (560 กิโลวัตต์) เพิ่มพลังด้วยฟังก์ชัน overboost ทำงานร่วมกับระบบช่วยออกตัว Launch Control

ตามด้วยปอร์เช่ ไทคานน์ เทอร์โบ (Porsche Taycan Turbo) พละกำลังสูงสุด 680 แรงม้า (500 กิโลวัตต์) สำหรับไทคานน์ เทอร์โบ เอส (Taycan Turbo S) ให้อัตราเร่งออกตัวจากจุดหยุดนิ่งไปยังระดับความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในระยะเวลาเพียง 2.8 วินาที ในขณะที่ไทคานน์ เทอร์โบ (Taycan Turbo) ทำได้ภายในระยะเวลา 3.2 วินาที

พิสัยการเดินทางสูงสุดในรุ่น เทอร์โบ เอส (Taycan Turbo S) ทำได้สูงสุดที่ระยะทาง 412 กิโลเมตร และในรุ่น เทอร์โบ (Taycan Turbo) เดินทางได้สูงสุดด้วย ระยะทางกว่า 450 กิโลเมตร (ทดสอบตามมาตรฐาน WLTP) รถสปอร์ตพลังไฟฟ้าขับเคลื่อน 4 ล้อ all-wheel-drive ทั้ง 2 รุ่นสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ปอร์เช่ ไทคานน์ (Porsche Taycan) คือรถสปอร์ตจากสายการผลิตปกติรุ่นแรก ที่ได้รับการติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงขับเคลื่อนสูง 800 โวลต์ แทนที่ระบบทั่วไปซึ่งมีแรงขับเคลื่อนเพียง 400 โวลต์ ในรถไฟฟ้าคันอื่น และนี่คือข้อได้เปรียบหลักอันดับแรก ที่ผู้ขับขี่ ไทคานน์ (Taycan) จะได้รับเมื่อนำพารถคันนี้โลดแล่นไปบนท้องถนน

ภายในระยะเวลาเพียง 5 นาที ระบบชาร์จพลังงานย้อนกลับ high-power charging network จะทำหน้าที่สะสมพลังงานให้แก่แบตเตอรี่ด้วยไฟฟ้า กระแสตรง direct current (DC) จนสามารถเดินทางได้เป็นระยะสูงสุดกว่า 100 กิโลเมตร (ทดสอบตามมาตรฐาน WLTP) ใช้ระยะเวลาเพียง 22.5 นาที ในการชาร์จพลังงานตั้งแต่ความจุแบตเตอรี่ 5 – 80 เปอร์เซ็นต์ SoC (state of charge) ภายใต้สภาพแวดล้อมปกติ และมี กำลังไฟฟ้าสูงสุด (peak) ที่ 270 กิโลวัตต์ ประสิทธิภาพความจุโดยรวมของแบตเตอรี่อยู่ที่ 93.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง

นอกจากนี้ผู้ขับขี่ปอร์เช่ ไทคานน์ (Porsche Taycan) สามารถชาร์จพลังงานได้อย่างสะดวกสบาย ผ่านไฟฟ้ากระแสสลับ alternating current (AC) ขนาด 11 กิโลวัตต์ ที่ใช้อยู่ในที่พักอาศัยทั่วไป แหล่งข่าวแจ้งมาว่าราคาเริ่มต้นที่ 6.99 ล้านบาท เรียกได้ว่าราคาหน้าสนใจมากกับยอดจองที่ต้องต่อแถวรับรถกันเลยทีเดียว